วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ชาดกเรื่อง "พระราหุลเถระ"



ชาดกเรื่อง "พระราหุลเถระ"

พระราหุล เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ กับพระนางยโสธรา (พิมพา) เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธราพระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระนางได้ส่งพระราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ควรจะได้ราหุลุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่าง ๆ ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติพลางตามเสด็จพระบรมศาสดาทรงดำริว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ที่จะมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ราหุลบวชเถิด ขณะนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตรที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณร ด้วยการให้สรณคมน์ ๓ นับได้ว่าราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌาย์ของตนไป ครั้นมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

วันหนึ่งในขณะที่พระราหุลพักอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป ต่อมาอีก วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสสอนด้วยมหาราหุโลวาท ซึ่งว่าด้วรรูปกรรมฐานธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน,อาโปธาตุ ธาตุน้ำ,เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม และอากาศธาตุ ช่องว่าง ให้ใช้ ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเราเป็นต้น ในที่สุดก็ตรัสสอนในกรรมฐานอื่น ๆ ให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้วพระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา ต่อมาพระราหุลได้ฟังพระพุทโธวาทเกี่ยวกับวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เพียงแต่ในที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕ ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์

พระราหุลนั้น ท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ครั้นท่านลุกขึ้นแต่เช้าก็ไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสอนจากสำนักของพระบรมศาสดา หรือจากสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้ ด้วยเหตุนี้เอง พระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารโดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน



ข้อคิดจากชาดก 

"ประกอบความเพียรพยายามในสิ่งที่ตนทำจนเป็นนิสัย จะทำให้เป็นเลิศในสิ่งนั้น"




ขอบคุณบทความจาก : http://www.dhammathai.org

ขอบคุณ ภาพ จากอินเตอร์เน็ต

ชาดกเรื่อง "อธิมุตตกสามเณร"



ชาดกเรื่อง "อธิมุตตกสามเณร"

อธิมุตตกสามเณร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระสังกิจจเถระ ท่านตั้งใจออกบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ครั้นอายุใกล้ครบ ๒๐ ปี พระเถระได้ให้สามเณรกลับบ้านเพื่อไปสอบถามวัน เดือน ปีเกิด จากโยมพ่อโยมแม่ให้แน่นอนก่อน แล้วจึงกลับมาอุปสมบท ในระหว่างทางมีโจร ๕๐๐ กำลังซุ่มดักจับคนที่เดินทางไปมาในป่านั้น เพื่อนำไปฆ่าบูชายัญเทพเจ้าที่ได้บวงสรวงไว้ เมื่อสามเณรเดินเข้าไปในป่า พวกโจรพากันล้อมจับท่านไว

ถึงกระนั้น สามเณรไม่มีความตกใจ หรือหวั่นไหวในมรณภัยแต่อย่างใด ท่านกลับนึกสงสารพวกโจร ที่ประพฤติตัวเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน จึงตั้งเมตตาจิตแผ่กระแสเมตตาธรรมไปยังพวกโจร พร้อมกับแสดงธรรมด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ทำให้หัวหน้าโจรเกิดความรักความเอ็นดูในสามเณร ต่างปรึกษากันว่าจะปล่อยสามเณรกลับไป เพียงแต่ขอให้สามเณร อย่าได้บอกที่อยู่ของพวกตนให้ใครรู้เป็นเด็ดขาด เมื่อสามเณรรับปากจะไม่บอกใครอย่างแน่นอน พวกโจรจึงได้ปล่อยท่านไป

เมื่อสามเณรรอดพ้นจากมรณภัย จึงเดินทางต่อไป และได้พบบิดามารดาในระหว่างทาง ซึ่งท่านทั้งสองกำลังจะไปทำธุระยังต่างเมือง สามเณรได้รักษาคำสัญญาที่ให้ไว้กับโจร จึงไม่ได้บอกโยมพ่อโยมแม่ว่า มีโจรดักซุ่มรออยู่ข้างหน้าได้แต่ไต่ถามเพียงเรื่องวัน เดือน ปีเกิด ที่พระอาจารย์ให้มาถามเท่านั้น โยมพ่อโยมแม่ได้นิมนต์ให้ท่านไปรออยู่ที่บ้านก่อน หลังจากเสร็จภารกิจจึงจะกลับมาบอก ท่านทั้งสองจึงเดินทางต่อไป และถูกพวกโจรจับตัวไปในที่สุด

โยมพ่อโยมแม่ของสามเณร เห็นพวกโจรกำลังเตรียมมีดเตรียมหลาวต่อหน้าต่อตา ทั้งหวาดกลัวต่อมรณภัย ทั้งโกรธเคืองตัดพ้อสามเณรที่ไม่ยอมบอก ว่า ในป่ามีโจรคอยดักทำร้าย ปล่อยให้พ่อแม่มาหาที่ตายแท้ๆ สงสัยสามเณรคงเป็นพวกเดียวกับโจร ๕๐๐ เหล่านี้ พวกโจรได้ยินเสียงพร่ำบ่นของคนทั้งสอง จึงรู้ว่าสามเณรเป็นคนรักษาคำพูด แม้เป็นโยมพ่อโยมแม่ก็ไม่ยอมบอก เพราะกลัวจะเสียสัจจะที่ให้ไว้กับโจร

พวกโจรเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้น ซึ่งหาได้ยากในหมู่มนุษย์ ก็ยิ่งเพิ่มพูนความศรัทธาเลื่อมใสในสามเณรมากขึ้นไปอีกอยากกลับตัวกลับใจเป็นคนดี จึงตัดสินใจปล่อยโยมพ่อโยมแม่ของท่าน พากันเลิกอาชีพโจรอย่างเด็ดขาด อีกทั้งชวนกันเดินทางไปขอบวช และขอเป็นลูกศิษย์ศึกษาธรรมะกับสามเณรด้วย

เมื่อสามเณรเห็นว่า มหาโจรทั้ง ๕๐๐ มีความตั้งใจจริงที่จะกลับตัวกลับใจ มีจิตอนุโมทนาจึงให้ทุกคนโกนผมบวชเป็นสามเณร จากนั้นได้พาสามเณรใหม่ไปพบพระอาจารย์ พระอาจารย์บอกให้สามเณรพาไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อทุกรูป เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ต่างกราบทูลเรื่องราวทั้งหมด ในที่สุดหลังจากที่ทุกรูปฟังธรรมแล้ว ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด

เรื่องของสามเณรนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า สัจจะเป็นวาจาไม่ตาย แม้ว่าเราจะพบกับปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต ก็ให้มีใจตั้งมั่นอยู่ในความดี ให้รักษาสัจจะยิ่งชีวิต รักษาไว้เหมือนกับเกลือรักษาความเค็ม เมื่อเราประพฤติธรรม ธรรมะย่อมปกป้อง คุ้มครองรักษาเรา เพราะธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเสมอ

การกระทำของเราทุกอย่าง เราย่อมรู้อยู่แก่ใจดี ความลับไม่มีในโลก คนที่พูดโกหกอาจจะปิดบังคนอื่นได้ แต่ปิดบังตนเองไม่ได้ ต้องหลอกตนเองเรื่อยไป ตั้งแต่คิดเรื่องที่ไม่จริง ก็หลอกตนเองไปขั้นหนึ่งแล้ว ครั้นพูดให้คนอื่นฟัง ตนเองก็ต้องรับฟังเรื่องไม่จริงนั้นด้วย จากนั้นก็ต้องตามจำเรื่องที่ไม่จริง เมื่อในใจมีแต่เรื่องไม่จริง บาปอกุศลจึงเพิ่มมากขึ้น เมื่อคุ้นกับเรื่องไม่จริง ชีวิตจึงพบแต่ของไม่จริง และไม่เคยประสบความสำเร็จใด





ขอบคุณบทความจาก : http://www.trueplookpanya.com

ขอบคุณภาพจาก : http://www.oknation.net

ชาดกเรื่อง "นิโครธมิค"



ชาดกเรื่อง "นิโครธมิค"

ชาดกว่าด้วยการรู้จักเลือกหัวหน้า


สถานที่ตรัสชาดก

เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี


สาเหตุที่ตรัสชาดก

สมัยพุทธกาล ณ นครราชคฤห์ ธิดาเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม แต่กลับไม่ยินดีในความงามนั้น เฝ้าขอบิดามารดาบวชเป็นภิกษุณีเสมอแต่ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อเจริญวัยบิดามารดาจึงให้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี

วันหนึ่งที่เมืองมีงานนักขัตกฤษ์ ชาวเมืองต่างแต่งกายสวยงาม แต่ธิดาเศรษฐีกลับแต่งกายเรียบๆ บอกเหตุกับสามีว่า เพราะมองเห็นความไม่งามของร่างกาย สามีจึงกล่าวว่า ทำไมเธอจึงไม่บวชเสียเล่า?
นางได้ฟังก็ยินดี สามีจึงพาไปบวชเป็นพระภิกษุณีในสำนักของพระเทวทัต เมื่อบวชแล้วนางได้บำเพ็ญกิจของภิกษุณีอย่างเคร่งครัด โดยไม่รู้ตัวว่านางมีครรภ์ก่อนที่จะบวช เมื่อครรภ์ของนางโตขึ้น พระเทวทัตเกรงว่าตนจะเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงสั่งให้นางสึก

นางคิดว่าตนบวชเพื่อถวายชีวิตแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิใช่มาบวชเพื่อพระเทวทัต จึงเดินทางไปยังเชตวันมหาวิหารเพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญาณว่า นางเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แต่เพื่อคนทั่วไปได้ประจักษ์ จึงโปรดให้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ตรวจร่างกายและสอบสวนวัน เดือน ปีที่นางออกบวช ได้ความจริงว่า นางตั้งครรภ์ก่อนออกบวช นางจึงพ้นความผิด

ต่อมานางคลอดบุตรเป็นชายมีผิวพรรณผุดผ่อง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า พระกุมารกัสสปะ ครั้นอายุได้ ๗ ขวบ ทราบชาติกำเนิดของตนเกิดความสลดใจ จึงออกบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในการแสดงธรรมอันวิจิตร

นางภิกษุณีผู้เป็นมารดา นับแต่ลูกจากไปก็ได้แต่ร้องให้คิดถึงลูกจนไม่มีใจปฏิบัติธรรม เช้าวันหนึ่งบังเอิญได้พบพระกุมารกัสสป จึงร้องเรียกชื่อพระลูกชาย พระกุมารกัสสปเถระทราบว่า ถ้าหากท่านพูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะ มารดาจะตัดความอาลัยไม่ขาด จึงพูดให้สติว่า “ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่นะ! เวลาผ่านมาตั้งนานแล้ว ความอาลัยอาวรณ์แค่นี้ก็ยังตัดไม่ได้” นางได้ยินก็เสียใจ คิดตัดอาลัย จึงตั้งใจปฏิบัติธรรม จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระภิกษุได้สนทนาถึงเหตุนี้ พระบรมศาสดาทรงทราบจึงตรัสเรื่อง นิโครธมิคชาดก ดังนี้



เนื้อหาชาดก

ณ ป่าใหญ่ มีกวาง ๒ ฝูง พญากวางฝูงหนึ่งชื่อ นิโครธ อีกฝูงพญากวางชื่อ สาขะ มีบริวารฝูงละ ๕๐๐ ตัว ในครั้งนั้น พระราชาจะเสด็จไปยิงกวางเสมอๆ วันหนึ่งทอดพระเนตรเห็นพญากวางทองทั้งสอง จึงมีพระทัยเมตตารับสั่งไม่ฆ่าพญากวางทั้งสองนี้ แต่ยังคงล่ากวางอื่นๆ พญากวางจึงปรึกษากันว่า เพื่อไม่ต้องระแวงภัย แต่ละฝูงจะผลัดกันส่งกวางให้ฆ่าวันละ ๑ ตัว อยู่มาวันหนึ่ง ถึงเวรของนางกวางท้องแก่ในฝูงของพญาสาขะ นางขอร้องพญาสาขะว่า ขอให้นางคลอดลูกก่อนแล้วจะเอาตัวเองไปให้ฆ่าแทน แต่พญาสาขะไม่ยอม นางกวางจึงไปหาพญานิโครธ เพื่อขอความช่วยเหลือ

เมื่อพญานิโครธได้ฟังแล้ว ยอมเสียสละชีวิตตนเองแทน จึงเดินไปที่โรงครัว เอาหัววางบนเขียง เมื่อพ่อครัวมาเห็นจึงรีบกราบทูลพระราชา พระราชาทราบความจากพญานิโครธเกิดสลดพระทัย ดำริว่า แม้สัตว์เดรัจฉานยังมีความเมตตากรุณา จึงประกาศพระราชทานอภัยชีวิตแก่สัตว์ในป่าทั้งหลาย และตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงามนับแต่นั้นมา



ประชุมชาดก

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว ชนทั้งหลายต่างบรรลุธรรมตามลำดับชั้น พระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่

พญากวางสาขะ ได้มาเป็น พระเทวทัต
แม่กวาง ภิกษุณีรูปนี้
พระราชา พระอานนท์
พญากวางนิโครธ พระองค์เอง


ข้อคิดจากชาดก

๑. ผู้ที่มีบุญ ย่อมมีปัญญามองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มองเห็นโทษของวัฏสงสารว่าเป็นทุกข์ แล้วหาทางที่จะออกจากทุกข์นั้น

๒. ผู้ที่มีความตั้งใจจะสร้างบุญบารมี ควรจะตัดความห่วงใยอาลัยรักทั้งหลายให้ได้ ถ้าตัดไม่ได้ จิตใจจะกังวล ไม่อาจบรรลุธรรมขั้นสูงได้

๓. บุตรควรมีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณ และตอบแทนคุณ บิดามารดา

๔. ผู้นำที่ควรแก่การเคารพสรรเสริญนั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมอีกด้วย

๕. ผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องทำใจให้หนักแน่น ยึดมั่นในคุณความดี และอดทนเพื่อรอโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ถือเสียว่า “มือไม่มีแผล ย่อมไม่กลัวพิษงู ทองบริสุทธิ์อยู่ ย่อมไม่กลัวไฟลน”




ขอบคุณบทความจาก : http://www.kalyanamitra.org

ขอบคุณ ภาพ จากอินเตอร์เน็ต

ชาดกเรื่อง "ตัณฑุลนาฬิ"



ชาดกเรื่อง "ตัณฑุลนาฬิ"

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระโลฬุทายีเถระ 
ผู้ไม่รู้เรื่องในวิธีการให้สลากภัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในสมัยของพระเจ้าพรหมทัต ครองเมืองพารารณสี แคว้นกาสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพนักงานตีราคา ทำหน้าที่ตีราคาแลกเปลี่ยนสินค้าในพระคลังหลวงด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม พระราชามีความโลภทรงดำริว่า " ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่นานทรัพย์ในท้องพระคลังจักหมดสิ้นไป " จึงตั้งชายชาวบ้านผู้โง่เขลา ผู้หนึ่ง เป็นพนักงานตีราคาแทนพระโพธิสัตว์นั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์มักจะอยู่เบื้องหลังการตีราคาสินค้าเสมอ มักตีราคาเอาตามความชอบใจ

วันหนึ่ง มีพ่อค้าม้าคนหนึ่ง นำม้า ๕๐๐ ตัว มาจากแคว้นอุตตราปถะเพื่อแลกเปลี่ยน ถูกพนักงานตีราคาม้า ๕๐๐ ตัว ด้วยข้าวสารทะนานเดียว ทำให้พ่อค้าเสียใจเป็นอย่างมาก จึงเดินทางไปที่บ้านของพระโพธิสัตว์เพื่อปรึกษาขอความเป็นธรรม พระโพธิสัตว์จึงแนะนำให้พ่อค้าม้าติดสินบนพนักงานตีราคาแล้วให้เขาตีราคาข้าวสารทะนานหนึ่งใหม่ เมื่อปรึกษากันเช่นนั้นแล้วก็ชวนกันไปเข้าเฝ้าพระราชาพร้อมอำมาตย์และประชาชนเป็นจำนวนมาก พร้อมให้พนักงานตีราคาข้าวสารทะนานหนึ่งใหม่

พ่อค้าม้าได้กราบทูลพระราชาว่า " ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทราบว่า ม้า ๕๐๐ ตัว มีราคาเท่าข้าวสารหนึ่งทะนาน แต่ข้าวสารทะนานนี้ มีราคาเท่าไร ? ขอพระองค์โปรดถามพนักงานตีราคาเถิด พระเจ้าข้า " เมื่อพระราชาถามพนักงานตีราคา เขาจึงกราบทูลว่า " ข้าวสารทะนานนี้ มีราคาเท่ากับเมืองพาราณสีทั้งเมือง พะย่ะค่ะ " 
พระโพธิสัตว์ ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงถามเป็นคาถาว่า
" ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ตรัสว่า ข้าวสาร ๑ ทะนานมีราคาเท่ามูลค่าม้า ๕๐๐ ตัวหรือ
และข้าวสาร ๑ ทะนานนี้มีค่าเท่ากับกรุงพาราณสีทั้งภายในภายนอกเชียวหรือ "
พวกอำมาตย์และประชาชนทั้งหลายเมื่อได้ฟังดังนั้น จึงพากันตบมือหัวเราะเยาะเย้ยว่า " เมื่อก่อนพวกเราเข้าใจว่า แผ่นดินและราชสมบัติเมืองพาราณสีนี้มีค่าหาประมาณมิได้แต่ที่ไหนได้ กลับมีค่าเพียงข้าวสารทะนานเดียวเท่านั้นหรือ โอ ! ท่านช่างเหมาะสมกับพระราชาเราเสียจริง ๆนะ " พระราชาทรงละอายพระทัยยิ่ง จึงรับสั่งให้ขับไล่พนักงานตีราคานั้นหนีไป ทรงแต่งตั้งให้พระโพธิสัตว์เป็นพนักงานตีราคาเหมือนเดิ


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า 

"โลภมาก มักลาภหาย" 




ขอบคุณบทความจาก : http://www.dhammathai.org

ขอบคุณ ภาพ จากอินเตอร์เน็ต

ชาดกเรื่อง "พระกุมารกัสสปะเถระ"



ชาดกเรื่อง "พระกุมารกัสสปะเถระ"

พระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า กัสสปะ ภายหลังชนทั้งหลายจึงเรียกว่า กุมารกัสสปะ เพราะบริบูรณ์ด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงเช่นเดียวกับ ราชกุมาร ได้ทราบว่า มารดาของท่านปรารถนาจะบวชตั้งแต่ยังแรกรุ่นสาว ได้อ้อนวอนขออนุญาตมารดาบิดาอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อมานางมีสามีตั้งครรภ์ขึ้นยังมิทันรู้ตัว อุตส่าห์ปฏิบัติสามีให้มีความยินดีแล้วก็อ้อนวอนขอบรรพชา เมื่อสามีอนุญาต แล้วได้ไปบวชในสำนักของนางภิกษุณี ซึ่งเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ภายหลังนางมีครรภ์แก่ปรากฏขึ้น พวกนางภิกษุณีเกิดความรังเกียจ จึงได้นำนางไปหาพระเทวทัตให้ตัดสิตชำระอธิกรณ์ พระเทวทัตตัดสินว่าภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะ ให้สึกไปเสีย นางได้ฟังคำของพระเทวทัตแล้วเกิดความเสียใจจึงพูดว่า พวกท่านอย่าให้ดิฉันฉิบหายเลยดิฉันมิได้บวชมุ่งหมายพระเทวทัต แต่ดิฉันบวชมุ่งหมายเฉพระพระบรมศาสดาเท่านั้น ขอพวกท่านจงพรดิฉันไปสู่สำนักของพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหารเถิด พวกนางภิกษุณีจึงได้พานางไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า นางภิกษุณีตั้งครรภ์แต่เมื่อยังไม่บวช แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัย ของชนเหล่าอื่นจึงรับสั่งให้พระอุบาลีชำระอธิกรณ์ในเรื่องนั้นและให้ไปเชิญตระกูลใหญ่ๆ ในพระนครสาวัตถีมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น ให้มาพร้อมกันแล้วพิสูจน์ จึงได้รู้ชัดว่านางมีครรภ์ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช จึงได้ตัดสินในท่ามกล่างแห่งบริษัท ๔ ว่า นางภิกษุณีนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระบรมศาสดาจึงตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า อุบาลีตัดสินอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว

ครั้นกาลต่อมา เมื่อนางภิกษุณีนั้นมีครรภ์แก่ครบกำหนดแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบก็ได้ทรงรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุตรธรรม และให้นามว่า กัสสปะ

ทารกนั้นเจริญเติบโตด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ดังนั้นชนทั้งหลายจึงได้เรียกว่า กุมารกัสสปะ ต่อมาวันหนึ่ง กุมารกัสสปะลงไปเล่นกับพวกเด็กๆ ที่สนามได้ตีเด็กที่เล่นด้วยกัน ถูกเขาด่าเอาว่า เด็กไม่มีพ่อแม่ตีพวกเราเข้าแล้ว กุมารกัสสปะได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปกราบทูลพระราชา ตอนแรกพระองค์ตรัสบอกว่าแม่นมเป็นมารดกของเขา แต่เขาก็ไม่เชื่อและอ้อนวอนถามอยู่บ่อยๆ พระอิงค์จึงตรัสบอกความจริงกุมารกัสสปะเกิดความสลดใจ จึงขอพระบรมราชานุญาตออกบวช พระองค์ก็ทรงอนุญาตแล้วได้พรไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาตั้งใจเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า บำเพ็ญความเพียรด้วยความมุ่งมั่นก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษจึงได้กลับมาเรียนพระกรรมฐานให้ดีขึ้นอีก แล้วไปอยู่ที่อันธวันวิหาร

ครั้งนั้น สหายของท่านซึ่งเป็นภิกษุเคยบำเพ็ญสมณธรรม ร่วมกันในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้บรรลุอนาคามิผลตายแวไปบังเกิอในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสได้ลงมาหาท่านแล้วผูกปํญหาให้ ๑๕ ข้อ แล้วสั่งว่า คนอื่นนอกจากพระบรมศาสดาแล้วไม่มีใครสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ ท่านจงไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา เรียนเอาเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านี้เถิดจึงลากลับ ท่านพระกุมารกัสสปะก็ไปทำเหมือนอย่างนั้น ครั้นได้ฟังปัญหาพยากรณ์ ๑๕ ข้อแล้ว ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

ตามประวัติท่านมีความสามารถเสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ได้อย่างวิจิตรพิสดาร สมบูรณ์ด้วยข้ออุปมาอุปไมยพร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ฉลาดในวิธีการสั่งสอน เพราะเหตุที่ท่านประกอบด้วยคุรสมบัติเช่นนี้จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในจิตรกถา คือแสดงธรรมเทศนาได้อย่างวิจิตร ครั้นท่านพระกุมารกัสสปะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพา



ข้อคิดจากชาดก

ตนแลพึงเป็นที่พึ่งแห่งตน.



ขอบคุณบทความจาก : http://www.dhammathai.org

ขอบคุณ ภาพ จากอินเตอร์เน็ต